คืนชีวิตผึ้ง…ด้วยชุมชนและวิถีเกษตรกรรมธรรมชาติ
เพราะสถานการณ์ของ ‘ผึ้ง’ ซึ่งเป็นที่พึ่งพาของความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหาร เป็นไปในทางไม่สู้ดีด้วยจำนวนที่ลดลง ทั้งยังเป็นสถานการณ์ที่สอดคล้องกันทั่วทั้งโลก
APIA (Asian Pollinator Initiatives Alliance) โครงการที่ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้การเลี้ยงแมลงผสมเกสรควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สายพันธุ์ท้องถิ่น ภายใต้องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) จึงร่วมกับ มูลนิธิชีววิถี BIO THAI ชวนผู้คนที่สนใจเรื่องราวของผึ้ง มาฟังเสวนา ชิมน้ำผึ้ง และตามหาแมลงผสมเกสรในสวนชีววิถี เพื่อทำความรู้จักกับระบบเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับผึ้งและแมลงผสมเกสรอย่างไม่จำกัดบริเวณ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง ในสวน หรือกระทั่งในคอนโด
‘คืนชีวิตผึ้ง…ด้วยชุมชนและวิถีเกษตรกรรมธรรมชาติ’ คือชื่อของงานเสวนา ที่เริ่มต้นด้วยการนำเสนองานวิจัย ‘ความหลากหลายของพาหะถ่ายเรณูดอกฝรั่ง ในสวนอินทรีย์กับสวนเคมี’ โดย ผศ.ดร.อลิสา สจ๊วต จากภาควิชาพฤกศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และพิริยา หัสสา เพื่อเปรียบเทียบความหลากหลายของแมลงผสมเกสรในสวนฝรั่งเคมีและอินทรีย์ ที่อำเภอสามพรานและอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดนครปฐม ซึ่งในการสรุปผลขั้นต้น พบว่า ในสวนฝรั่งที่ปลูกในระบบอินทรีย์ จะพบความหลากหลายของสัตว์ผสมเกสรมากกว่า โดยพบแมลงผสมเกสรมากกว่า 8 ชนิด ส่วนผึ้งหลวง ผึ้งโพรง ผึ้งสีฟ้า แมลงภู่ จะพบมากในสวนอินทรีย์ ขณะที่ผึ้งมิ้ม ผึ้งรู ชันโรง และกลุ่มแมลงวัน จะพบได้ทั้งสวนอินทรีย์และเคมี
ทว่างานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่ได้จบลงด้วยข้อสรุปเพียงเท่านี้ ผู้วิจัยยังคงเดินหน้าต่อเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้าง ระบุชนิดของแมลงผสมเกสร ฯลฯ เพราะการศึกษาเรื่องดังกล่าวต้องใช้เวลานานพอสมควร เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลในฤดูกาลที่ต่างกัน นอกจากผึ้งและแมลงผสมเกสรในสวนฝรั่งแล้ว การสำรวจสวนใน กทม. ก็มีการพบผึ้งโพรง มิ้ม ชันโรง อยู่ด้วยเช่นกัน โดยมีดอกไม้เป็นสิ่งดึงดูดแมลงผสมเกสร และเพื่อดึงดูดแมลงผสมเกสรที่หลากหลาย เราจึงควรปลูกดอกไม้หลายชนิดเพื่อให้มีอาหารให้ผึ้งและแมลงผสมเกสรตลอดทั้งปี
และดอกไม้ที่ดึงดูดผึ้งโพรงได้ดีที่สุด ก็เช่นโหระพา มะม่วง ปอเทือง ชงโค อินทนิล ในขณะที่ผีเสื้อจะชอบดอกแก้ว โมก เอื้องหมายนา หงอนไก่ไทย ส่วนชันโรงนั้นชอบดอกไม้ทุกชนิด ซึ่งหากเราช่วยกันปลูกต้นไม้เหล่านี้ ก็จะเป็นการสร้างพื้นที่อาหารให้กับแมลงผสมเกสร ที่จะช่วยทำหน้าที่เพิ่มผลผลิตให้กับพืชได้
ส่วน รศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Native Honeybee and Pollinator Center: NHBEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) ชวนให้เราขบคิดถึงคุณค่าของผึ้งที่มากกว่าการให้น้ำหวานที่ไม่ได้เป็นแค่อาหาร หากแต่เป็นยาอายุวัฒนะ และมูลค่าที่มากกว่าการได้น้ำผึ้ง คือบทบาทของผึ้งในการผสมเกสรให้พืชอาหาร ที่การจะมีอยู่หรือหายไปของพืชพันธุ์เหล่านี้ มีผึ้งเป็นตัวแปรสำคัญ การอยู่รอดของผึ้งจึงเกี่ยวพันกับการอยู่รอดของมนุษย์ด้วย
แต่สิ่งแวดล้อมก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการลดลงของจำนวนประชากรผึ้งและชันโรง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าธรรมชาติไปสู่พื้นที่เกษตรกรรมหรือบ้านเรือน ป่าที่เปลี่ยนไปเพราะภัยพิบัติ ล้วนมีผลกระทบกับผึ้ง เพราะป่าที่หายไปจะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของแมลงผสมเกสรเหลานี้
โดยความร้อนที่เพิ่มขึ้น 0.5 ถึง 2 องศาเซลเซียส จะส่งผลต่ออัตราการตายของผึ้งและชันโรง โดยเฉพาะชันโรงที่ไม่มีพฤติกรรมกระพือปีกเพื่อระบายความร้อนเหมือนผึ้ง จะตายอย่างรวดเร็วกว่า และในจำนวนชันโรงมากกว่าสิบชนิดที่มีประโยชน์ต่อการผสมเกสร มีเพียงสองชนิดที่ทนความร้อนได้ดีแม้จะไม่เท่ากับผึ้ง คือชันโรงหลังลาย และชันโรงขนเงิน ทว่าก็มีข้อจำกัดในเรื่องอุณหภูมิอยู่ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า อัตราการตายของชันโรงจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และจะตายทั้งหมดที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส ผึ้งสามารถทนแดดบางช่วงตอนได้ แต่ชันโรงจะโดนแดดไม่ได้เลย การเลี้ยงชันโรงเพื่อช่วยผสมเกสร จึงควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ชันโรงดำรงชีวิตอยู่ได้
ในขณะเดียวกัน แสงก็มีความสำคัญต่อการหากินของผึ้ง โดยเฉพาะแสงไฟในชุมชนเมืองจะดึงดูดผึ้งหลวงให้มาเล่นไฟ ที่นอกจากจะก่อกวนพฤติกรรมของผึ้งแล้ว ยังมีผลต่อการบานของดอกไม้ด้วย และปัญหาหนึ่งที่ใหญ่ไม่แพ้กัน คือการพ่นยาฆ่าแมลงของเกษตรกร ที่มีผลต่อการผสมเกสรของผึ้งและชีวิตของแมลงผสมเกสร การเลี้ยงผึ้งและชันโรงมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งประสบการณ์ของผู้ใหญ่แจ๊ค-แมนรัตน์ ฐิติธนากุล ได้สะท้อนให้เห็นผ่านการทำเกษตรในระบบอินทรีย์ และมีรายได้จากการขายน้ำผึ้ง
ในขณะที่ผู้ใหญ่แจ๊คแสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่เอื้อต่อการเลี้ยงผึ้งและชันโรงในชนบท ภาวิดา กฤตศรันย์ ซึ่งเลี้ยงชันโรงในเมืองโดยใช้พื้นที่ระเบียงของห้องพักอาศัยบนชั้น 23 ก็บอกกับเราว่า ชันโรงตอบโจทย์พื้นที่ขนาดเล็ก และไม่ก่อความรบกวน เพียงแค่ปลูกดอกไม้เป็นพืชอาหาร นอกจากจะได้น้ำผึ้งชันโรงไว้บริโภค วิธีนี้ยังทำให้คนเมืองได้ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อกับแมลงผสมเกสรเหล่านี้ด้วย
ไม่เพียงแต่ความรู้จากประสบการณ์จริงของผู้เลี้ยงผึ้งและชันโรง แต่การได้ชิมน้ำผึ้งสะสมของวุฒิชัย อินทร์ประยงค์ ที่สะสมน้ำผึ้งไว้มากกว่า 120 ชนิด ก็ทำให้เรารู้ว่า ความหลากหลายของดอกไม้ มีผลต่อความหลากหลายของรสชาติน้ำผึ้ง และการมีอยู่ของประชากรผึ้งนั้นสร้างความหลากหลายของอาหาร และสร้างมูลค่าทางการตลาดได้ไม่น้อยเลย
ชมเสวนาและกิจกรรม ‘คืนชีวิตผึ้ง…ด้วยชุมชนและวิถีเกษตรกรรมธรรมชาติ’ ย้อนหลังได้ที่ BIOTHAI