การก้าวไปข้างหน้าของ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เพื่อสร้างระบบเกษตรกรรมและอาหารที่ปลอดภัยสู่ผู้คน

การก้าวไปข้างหน้าของ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เพื่อสร้างระบบเกษตรกรรมและอาหารที่ปลอดภัยสู่ผู้คน

หากจะถามว่านับสิบปีที่ผ่านมาของ Thai-PAN ได้ทิ้งรอยเท้าแบบใดเอาไว้บนผืนแผ่นดิน ก็เห็นจะตอบได้ว่า การทำงานของพวกเขาเหล่านี้ ได้ฝากคืนผืนดินที่ปลอดภัยแทนที่สารเคมีอันตรายเอาไว้บนพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งนั่นเป็นภารกิจหนึ่งของการก่อตั้งเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network) หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในนาม ‘ไทยแพน’

31812563 m Gindee Club กินดี คลับ

และตลอดสิบปีของการทำงานที่ผ่านมา ไทยแพนได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเอาไว้อย่างมากให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะการสร้างการยอมรับในการให้ความรู้และข้อมูลด้านสารเคมีอันตรายในผักผลไม้ ซึ่งติด popular tags ในเว็บไซต์ thaipan.org และมีการนำไปขยายผลต่อสู่ผู้บริโภค

นอกจากข้อมูลสารตกค้างในผัก ยังมีรายงานผลกระทบสารเคมีซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการขับเคลื่อนการยกเลิกการใช้สารที่เป็นอันตราย ที่ตอนนี้ถูกยกเลิกไปแล้วจำนวนมาก แต่ก็ยังมีอีกกว่า 250 ชนิดที่ยังเข้าข่ายว่ามีอันตรายสูงตามหลักเกณฑ์สากล และยังอยู่ในการทำข้อมูล ตามคำเปิดเผยของ ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานไทยแพน

“คนเริ่มตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น ในระดับนโยบายก็เริ่มมีทิศทางที่บอกว่าน่าจะนำไปสู่เรื่องของเกษตรยั่งยืนมากขึ้น เราคิดว่าเรื่องนี้คือความสำเร็จ เป้าหมายของเราคือถ้ามันเป็นสารที่เป็นอันตราย ก่อผลกระทบอย่างชัดเจน ประเทศต้นทางไม่ใช้แล้ว เราไม่ควรจำเป็นต้องใช้ เราไม่ใช่ถังขยะ เราควรจะมีสิทธิ์เลือก ความปลอดภัยทางอาหาร ความปลอดภัยของเกษตรกรเป็นเรื่องที่ต่อรองไม่ได้”

การทำงานด้านข้อมูลอย่างเข้มข้นจริงจังของไทยแพน ก่อให้เห็นภาพการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ลุกขึ้นมาทำงานเชิงรุก และความตื่นตัวรวมทั้งความช่วยเหลือทางวิชาการจากหลายหน่วยงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทว่าภารกิจของไทยแพนไม่ได้หยุดอยู่เพียงเรื่องการยกเลิกสารเคมี หรือตรวจสารเคมีในผัก หากแต่เป็นการพยายามผลักดันไปถึงโครงสร้างการกำกับสารเคมีในประเทศไทย เพื่อนำมาสู่ความปลอดภัยของผู้คนมากขึ้น

“การที่จะให้ NGO หน่วยงานเล็กๆ ลุกขึ้นมาทำ หรือการจะแบนสารที่เป็นอันตรายต้องให้ประชาชนคนอื่นๆ ลุกขึ้นมาแล้วพิสูจน์ความอันตราย มันใช้เวลา แต่ถ้าโครงสร้างกฎหมายปรับเป็นเหมือนของสหภาพยุโรป ที่ให้ผู้ประกอบการที่จะขึ้นทะเบียนพิสูจน์ความปลอดภัยตามเกณฑ์ ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ก็ไม่ต้องขึ้นทะเบียน มันดีกว่าเยอะ เรากำลังจะผลักให้กฎหมายไปในทิศทางนั้น แต่ไม่ง่ายเลย

“เพราะตอนนี้การกำกับสารเคมีเกษตรมันอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งดูแลวัตถุอันตรายหกหน่วยงาน และใช้ร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กรมธุรกิจพลังงาน การแก้กฎหมายจึงไม่ใช่เรื่องง่าย”

การขับเคลื่อนกฎหมายที่จะเอื้อให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างการกำกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งระบบ ยังเป็นเรื่องที่ไทยแพนต้องเดินหน้าต่อ ด้วยเป้าหมายที่วางเอาไว้คือ การสร้างระบบเกษตรที่ยั่งยืนและอาหารสุขภาวะ เพื่อส่งต่อผืนดินที่ปลอดภัยให้กับคนรุ่นหลัง ซึ่งการจะสำเร็จไม่ใช่การลงมือแบบ ‘one man show’ หากต้องมีประสานการทำงานกับหลายภาคส่วน

ไทยแพนจึงทำงานร่วมอีกหลายภาคี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)

“ในเรื่องความมั่นคงทางอาหารประเด็นเรื่องความปลอดภัยมันเป็นส่วนหนึ่งในนั้น เราจะมั่นคงไม่ได้ถ้าไม่ปลอดภัย สิ่งที่เราพยายามอยากทำให้เกิดขึ้น คือสร้างความตระหนัก เกิดความเปลี่ยนแปลงเพื่อมาตรการความปลอดภัย และส่วนที่สองคือ ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ของเกษตรกรรมยั่งยืนมากขึ้น ไทยแพนจึงทำงานกับเครือข่ายเกษตรเป็นหลัก

“เราพยายามที่จะสร้างรูปธรรม เช่น ไปทำงานกับเครือข่ายครัวใบโหนดที่สงขลา จัดการระบบอาหารที่ปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งครัวใบโหนดพยายามทำงานกับโรงเรียน 45 โรงเรียนในอำเภอสิงหนคร โดยมีชุมชนเป็นคนผลิตอาหาร โดยเขาเองก็มีกองทุนเป็นกลุ่มออมทรัพย์คอยสนับสนุน ยโสธรก็เป็นพื้นที่ที่ขับเคลื่อนเรื่องธรรมนูญตำบล ร่วมกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด เพราะฉะนั้นเราก็จะทำงานทั้งประเด็นสารเคมีและประเด็นอื่นๆ ด้วย”

ทั้งนี้ก็ด้วยเป้าหมายใหญ่ที่รออยู่ ทั้งการสร้างระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน และอาหารที่ปลอดภัยต่อผู้คน ซึ่งเป็นหัวใจหนึ่งของความหมายของความมั่นคงทางอาหาร

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.