เส้นทางตลาดเขียว ตลาดที่เปลี่ยนทิศทางการบริโภคของผู้คน และเกื้อหนุนเกษตรกรรมยั่งยืน
ความท้าทายข้อใหญ่ของการขับเคลื่อนความรู้และแนวคิด เพื่อจูงใจให้เกษตรกรไทยปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากเกษตรเคมีมาสู่เกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรมธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ ฯลฯ คือการทำอย่างไรให้ผลผลิตของเกษตรกรได้มีช่องทางจำหน่าย และได้มีโอกาสสื่อสารเรื่องอาหารปลอดภัยกับผู้บริโภค
ช่องทางของ ‘ตลาดเขียว’ จึงเกิดขึ้นมาเพื่อรองรับแนวทางดังกล่าว ซึ่งเมื่อย้อนดูเส้นทางกำเนิดของตลาดเขียวนั้น วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด ผู้คลุกคลีอยู่กับการขับเคลื่อนเรื่องอาหารและเกษตรกรรมมาเป็นเวลานาน ได้เคยถ่ายทอดเรื่องราวของตลาดเขียวให้ผู้เขียนฟังว่า การมีอยู่ของตลาดเขียวในประเทศไทยนั้น เริ่มมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2547 ซึ่งเป็นปีที่ตลาดเขียวปักธงลงในกรุงเทพฯ เสียอีก
ตลาดเขียวในกรุงเทพฯ แห่งแรก เปิดพื้นที่ภายในอาคารรีเจนท์เฮาส์ ราชดำริ โดยการขับเคลื่อนของสวนเงินมีมา แต่ก่อนหน้านั้นตลาดเขียวได้มีการกระจายตัวอยู่แล้วทั่วภูมิภาคในต่างจังหวัด เนื่องจากว่าได้มีนักพัฒนา หรือกลุ่ม NGO เข้าไปขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ขึ้น ไม่ว่าจะสงขลา เชียงใหม่ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา ฯลฯ ที่เมื่อได้ผลผลิตแล้ว การจะนำผลผลิตที่อาจจะไม่สวย สวยน้อยกว่า หรือผลไม่ใหญ่โตอย่างที่ตลาดกระแสหลักต้องการ ให้เข้าถึงผู้บริโภคที่ต้องการอาหารการกินที่ดี ก็ต้องอาศัยการทำตลาดที่มีแนวคิดชัดเจนอย่างตลาดเขียวขึ้นมา
ด้วยเห็นประโยชน์ของเกษตรอินทรีย์ และต้องการผลักดันให้ผลผลิตเหล่านี้เดินทางถึงผู้บริโภคทั่วไปได้มากขึ้น วัลลภาจึงริเริ่มโครงการ CSA (Community Support Agricultural) ขึ้นมา โดยระบบนี้เป็นระบบที่คนกินจะเป็นผู้ร่วมลงทุนกับเกษตรกร ในการปลูกและจำหน่ายผลผลิตให้กับสมาชิก สมาชิกจะได้กินผักตามที่เกษตรกรปลูก และกินผักตามฤดูกาลทว่าระบบนี้ก็ไม่อาจเข้าถึงคนผู้บริโภคสีเขียวได้มากนัก ทั้งที่ในเวลานั้นผลผลิตอินทรีย์กำลังเริ่มเป็นที่ต้องการของคนกรุงเทพฯ ที่ใส่ใจต่อเรื่องสุขภาพและอาหารการกินมากขึ้น การสร้างตลาดเขียวขึ้นมารองรับจึงเป็นโจทย์ใหม่ของนักขับเคลื่อน สอดพ้องพอดีกับการได้รับการสนับสนุนพื้นที่ในร้านบ้านนาวิลิต ของคุณวิลิต เตชะไพบูลย์ ที่รีเจนท์เฮาส์ การขับเคลื่อนครั้งนั้นจึงเกิดเป็นความเชื่อมโยงของคนเมืองกับเกษตรกร โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก สสส. ในการอุดหนุนค่าเดินทางให้เกษตรกรนำสินค้าเข้ามาขาย
การจัดตลาดเขียวในยุคต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน เราจึงได้เห็นการเข้าร่วมของคนรุ่นใหม่มากขึ้นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เกิดตลาดเขียวที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่เมืองและพื้นที่รอบนอกอีกหลายแห่ง และมีการจัดตลาดที่ถี่ขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น City Farm Market, ลาดพร้าวฮาร์เวสต์, Greenery Market, ปันอยู่ ปันกิน, Slow Life บางกอก, ตลาดเขียวธรรมศาสตร์ ฯลฯ
ซึ่งการกระจายตัวของตลาดเขียวเหล่านี้ ก็ช่วยทำให้ผู้บริโภคที่สนใจอาหารอินทรีย์เข้าถึงแหล่งจำหน่ายได้ง่ายขึ้น และจากตลาดที่เคยมีแต่เพียงผักผลไม้หรืออาหารปลอดสาร ก็มีสินค้าใหม่ๆ ที่มีกระบวนการผลิตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาเสริมให้ตลาดมีความหลากหลายได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาสำหรับใช้ในครัวเรือน งานฝีมือ วัสดุปลูกที่สนับสนุนให้เกิดการปลูกผักที่บ้านได้เอง ฯลฯ รวมไปจนถึงการออกแบบตลาดให้เป็นตลาดเขียวที่ลดขยะ มีการใช้วัสดุธรรมชาติแทนบรรจุภัณฑ์รูปแบบเดิมๆ และมีการจัดการขยะอย่างครบวงจร
นอกจากการซื้อขายที่ทำให้ผู้ซื้อและผู้ผลิตได้มีโอกาสพบปะกันโดยตรง ตลาดเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ในการสื่อสารและเรียนรู้ ทั้งเรื่องอาหารการกิน การรู้ที่มาที่ไปของอาหาร การเรียนรู้เรื่องการผลิต และการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงโลกมากขึ้น ทั้งการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างผ่านการจัดการของตลาด และการจัดเวิร์กช็อปให้ผู้บริโภคได้เข้ามาเรียนรู้และมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปอาหารจากวัตถุดิบปลอดสาร การปลูกผัก ฯลฯ
ไม่เพียงแต่การเปิดตลาดแบบ on ground ที่เปรียบเสมือนกิจกรรมวันหยุด ให้คนคอเดียวกันได้ออกไปใช้เวลา ตลาดเขียวบางแห่งยังเปิดให้มีการซื้อขาย online หรือการสั่งจองล่วงหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคสีเขียว ได้เข้าถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์ในตลาดเขียวได้อย่างไม่มีกำแพง
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ล้วนเป็นกลไกที่ช่วยให้เกิดการเดินหน้าของการสร้างความมั่นคงให้กับระบบอาหาร ที่คำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ คำนึงถึงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และมีผลต่อการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นต้นทางสำคัญของการสร้างแหล่งอาหารที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของยุคสมัย