โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม โครงการดีๆ ที่อยากเห็นคนกินผักผลไม้ให้เพียงพอ เพราะสุขภาพดีสร้างได้ด้วยตัวเอง
แต่ไหนแต่ไรมา ผู้ใหญ่รอบตัวมักพูดเสมอว่าควรต้องกินผัก อย่างที่รู้กันทั้งจากคำบอกกล่าว และตำราวิชาการล้วนอธิบายว่า ผักผลไม้กินแล้วดี มีประโยชน์มากมาย องค์กรชำนาญการพิเศษแห่งสหประชาชาติ ซึ่งรับผิดชอบการประสานงานด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยังแนะนำให้บริโภคผักและผลไม้ในแต่ละวันอย่างน้อย 400 กรัม เพราะผักผลไม้เป็นแหล่งสะสมของแร่ธาตุและวิตามินหลายชนิด ที่ล้วนมีประโยชน์ต่อร่างกาย
แน่นอนว่าหากบริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ย่อมนำมาสู่ผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง รวมถึงกลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ปัจจุบันกลุ่มโรค NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วยและเสียชีวิตสูงสุด 7 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วนลงพุง ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจเมื่อได้เห็นผลสำรวจคือ คนไทยกินผัก ผลไม้น้อยกว่า 400 กรัมมีมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์
‘โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม’ จึงเกิดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพราะอยากเห็นคนไทยกินผักได้ดี และเพียงพอ
“การได้เริ่มต้นเรียนรู้ ทดลอง จนเกิดผลลัพธ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสุขภาพร่างกายของตัวเองอย่างเห็นได้ชัด คือสิ่งที่ทำให้เราคิดว่า เมื่อเราเปลี่ยนได้ คนอื่นก็ต้องเปลี่ยนได้ และเมื่อรู้ว่าอาหารคือสาเหตุของการเกิดโรคทั้งหลาย รวมถึงการกินผัก ผลไม้คือสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะด้วยการรักษาหรือช่วยป้องกันโรค จึงอยากชวนให้คนอื่นๆ ลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค หันมากินผักให้ได้อย่างน้อย 400 กรัม เปลี่ยนความยากของการกินผักให้เป็นเรื่องง่าย ที่ควรต้องทำและจำให้ขึ้นใจว่าผัก ผลไม้ คือยาดีที่สุดของร่างกาย” จันทร์จิดา งามอุไรรัตน์ ผู้ริเริ่มและผู้จัดการโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนเข้าขวบปีที่ 6 แล้ว
ลักษณะการดำเนินการ ได้เริ่มต้นตั้งเป้าที่กลุ่มคนทำงานที่อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งจะเน้นไปที่บริษัท หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ด้วยการเข้าไปทำกิจกรรม โดยมีทั้งการเสวนาให้ความรู้จากหมอ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ หรือที่อาจคุ้นหูกันมากกว่าว่านักโภชนาการ รวมถึงคนที่เข้าร่วมโครงการจนเกิดการเปลี่ยนแปลงมาร่วมพูดคุย ให้ความรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ร่วมกัน
“นอกจากจะได้ความรู้เรื่องประโยชน์จากการกินผัก ผลไม้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้รู้ถึงการกินอย่างไรให้ปลอดภัย มีฐานกิจกรรมให้ชั่งผัก ซึ่งจริงๆ แล้วถามว่าผักผลไม้ 400 กรัมต้องกินมากน้อยแค่ไหน จะมีหลักการอยู่ว่า ต้องกินผัก 3 ส่วน ผลไม้ 2 ส่วน เพราะผลไม้มีน้ำตาล แต่เราสามารถสังเกตได้ง่ายๆ ว่าแต่ละมื้อให้ดูว่าในจานเรามีผักอยู่ครึ่งนึงแล้วหรือยัง ระหว่างมื้อจากที่เคยกินขนมให้เปลี่ยนเป็นผลไม้แทน
“และยังมีกิจกรรม Design my plate ให้ผู้เข้าร่วมได้สร้างสรรค์อาหารในจานของตัวเอง ภายในงานแต่ละครั้งยังมีการตรวจสารเคมีในเลือด แนะนำเมนูสุขภาพ มีตลาดนัดให้คนซื้อ คนขายได้พบปะเพื่อสานต่อกันต่อไป”
ผู้จัดการโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม เล่าถึงกิจกรรมในช่วงเริ่มต้น ซึ่งสิ่งที่เป็นจุดแข็งของโครงการฯ คือ การมีทั้งหมอ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ โดยแต่ละครั้งจะมีการรับสมัครผู้สนใจ 20 คนร่วมปฏิบัติการ 21 วันมหัศจรรย์ผัก ผลไม้ ผู้เข้าร่วมจะได้รับการปฐมนิเทศ ทำความรู้จักกัน และสร้างเป้าหมายของตัวเอง
ทั้งนี้แต่ละวันผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องส่งรูปอาหารที่รับประทานทุกมื้อเข้ากรุ๊ปไลน์ และยังมีแอปพลิเคชั่นให้กรอกข้อมูลบันทึกการรับประทาน เมื่อครบ 21 วัน ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาถอดบทเรียนการรับประทานของแต่ละคนเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องการบริโภค รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพที่จันทร์จิดาบอกว่า ส่วนใหญ่พบว่าระบบการขับถ่ายดีขึ้นมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์
กิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นดำเนินอย่างต่อเนื่องโดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท องค์กร หน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี กระทั่งเมื่อประเทศไทยและทั่วโลกประสบวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
“จากที่เคยเข้าไปทำกิจกรรมกับบริษัทต่างๆ ได้ทุกอย่างหยุดชะงัก แต่สิ่งที่ดูเหมือนเป็นอุปสรรคกลับมีเรื่องดีคือ ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ส่วนใหญ่หันมาทำอาหารกินเองมากขึ้น และเป็นโอกาสดีที่ทำให้โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัมได้เริ่มออกไปทำงานกับคนกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะแค่กลุ่มคนทำงานในเมืองอีกต่อไป ด้วยการจัดกิจกรรมผ่านทางออนไลน์
“ปีที่ผ่านมาได้เริ่มลงพื้นที่เข้าไปยังชุมชนต่างๆ ซึ่งพบว่าคนต่างจังหวัดมีปัญหาไม่ต่างจากคนเมือง แต่มีปัญหาบางอย่างที่แตกต่างกันคือ คนเมืองพอจะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการกินผัก แต่หากินได้ยาก ขณะที่คนต่างจังหวัดไม่มีความรู้ เขาไม่รู้เลยว่ากลุ่มโรค NCDs คืออะไร
“นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการใช้ยา เราพบว่าคนต่างจังหวัดกินยาลดความอ้วน ยาถ่าย โดยไม่จำเป็น แต่เมื่อเขาได้รับความรู้ และทดลองตามที่บอก ด้วยสังคมคนต่างจังหวัดเมื่อ 1 คนทำแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลง เขาจะบอกต่อกันไปทำให้เกิดการรับรู้อย่างทั่วถึง
“อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เราได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นคือ การได้เข้าไปทำงานร่วมกับโรงพยาบาลท้องถิ่นต่างๆ พบว่าหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่เป็นผู้มีความรู้ กลับไม่สามารถดูแลตัวเองได้ดี เพราะเขาต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาพักผ่อน และไม่มีเวลาหาของกินดีๆ ให้ตัวเอง หมอยังเดินเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้ออาหารขยะกินอยู่เลย”
สำหรับแผนการดำเนินการต่อไปของโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัมหลังจากนี้ จันทร์จิดาเล่าว่า จะยังคงดำเนินการเปิดคอร์สผ่านระบบออนไลน์ต่อไป เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มได้อย่างหลากหลายทั่วถึงมากขึ้น ส่วนการขับเคลื่อนที่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับแผนต่อไปของสสส. ซึ่งจะเน้นไปในเรื่องการขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหาร โครงการฯ จะยังเน้นเรื่องการให้ความรู้ทางด้านอาหารต่อไป
“การได้ลงไปร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่กับชุมชนต่างๆ ทำให้เรามีเจ้าหน้าที่อสม. มาช่วยงานเป็นจำนวนมาก ในส่วนนี้จึงอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ข้อมูลความรู้กับอสม. ให้เขาได้รับรู้และร่วมมือทำกับตัวเองก่อน เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างให้คนอื่นต่อไป
“อีกหนึ่งความตั้งใจที่อยากจะก้าวต่อไป คือการเข้าไปทำกิจกรรมกับกลุ่มคนพิการ ที่ผ่านมามีโอกาสร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และได้เริ่มทำกิจกรรมออนไลน์กับคนพิการ ซึ่งทำให้เราเห็นถึงความตั้งใจของคนพิการในความพยายามดูแลสุขภาพของพวกเขาเป็นอย่างมาก สิ่งนี้สร้างความตระหนักให้เราว่า กลุ่มคนที่ขาดโอกาสทางสังคม ก็ต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนคนทั่วไปเช่นกัน จึงมีความตั้งใจว่าจะเข้าไปทำกิจกรรมกับกลุ่มคนเหล่านี้ให้มากขึ้น” จันทร์จิดากล่าวถึงแผนการดำเนินการต่อไปของโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม
เมื่อทุกคนต่างต้องการมีชีวิตที่ดี และสิ่งสำคัญที่สุดคือการมีสุขภาพดี สิ่งที่ได้จากการถอดบทเรียนของผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งจากกลุ่มคนทำงานในเมือง กลุ่มคนในชุมชน แม้กระทั่งกลุ่มผู้ทุพพลภาพ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า
การกินผักผลไม้ คือยาดีที่จะช่วยให้ชีวิตดี
ภาพ: โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม