6 แนวทางสำคัญ ช่วยแม่ให้นมบุตรอย่างน้อย 6 เดือนได้สำเร็จ

6 แนวทางสำคัญ ช่วยแม่ให้นมบุตรอย่างน้อย 6 เดือนได้สำเร็จ

หนึ่งในอาหารที่ดีที่สุดในโลกสำหรับทารกคือ น้ำนมแม่ สารอาหารในน้ำนมของแม่ จะช่วยให้ร่างกายของทารกแข็งแรง มีภูมิต้านทานที่ดี ลดโอกาสการติดเชื้อ ช่วยมีไอคิว อีคิวที่ดี และมีทักษะด้านการคิดในสมองส่วนหน้า ทั้งยังเป็นช่วงเวลาแห่งความทรงจำ ความรัก ความสุข ความอบอุ่น และการเอื้ออาทร ที่จะส่งผลต่อกันของแม่ลูกได้ในระยะยาว

จากการศึกษาจากทั่วโลกพบว่า เด็กที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่เลย อัตราการเจ็บป่วยที่ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจะน้อยลงกว่าครึ่ง อัตราการเสียชีวิตในทารกแรกเกิดก็น้อยกว่าเช่นกัน ทั้งยังเป็นเป้าหมายของทุกประเทศทั่วโลก ที่ต้องการลดอัตราการตายของทารก ด้วยการให้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ และให้การสนับสนุนแม่ให้นมบุตรทุกคนอย่างทั่วถึง

ที่ผ่านมา อัตราของแม่ให้นมบุตรได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2559 มีจำนวนแม่ให้นมบุตร 24% ปี พ.ศ.2562 แม่ให้นมบุตรลดลงเหลือเพียง 14% ในขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกตั้งเป้าหมายแม่ให้นมบุตรไว้ 50% ในปี พ.ศ.2568

ในเรื่องนี้ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘6 เดือนมหัศจรรย์ นมแม่ต้องห้ามพลาด ให้ทารกได้รับนมแม่ สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีส่งผลไปทั้งชีวิต’ ให้ความรู้โดย พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย รศ.พญ. สุดาทิพย์ โฆสิตะมงคล กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด International Board Lactation Consultant (IBCLC) กรรมการวิชาการ มูลนิธิศูนย์นมแม่ และ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.) แชร์ประสบการณ์การให้นมลูกอย่างจริงจัง โดย ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีมหาสารคาม คุณแม่ลูกสอง และดำเนินรายการโดย คุณลอร่า-ศศิธร วัฒนกุล

จากเสวนานี้ เราได้สรุป 6 แนวทางสำคัญ ที่จะช่วยสนับสนุนให้แม่หลังคลอดสามารถให้นมลูกอย่างน้อย 6 เดือน ได้สำเร็จ เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีให้กับแม่ลูก และส่งเสริมให้เด็กเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ

1. คุณแม่และทุกคนในครอบครัวมีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้ลูกได้กินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนได้สำเร็จ ด้วยการให้กำลังใจและดูแลคุณแม่ระหว่างรอน้ำนม ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด และช่วง 2 สัปดาห์หลังจากกลับบ้าน โดยวิธีที่กระตุ้นให้น้ำนมมาได้เร็วที่สุดก็คือ ให้ลูกเข้าเต้ากินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด รวมถึงการกระตุ้นด้วยการปั๊มนมในกรณีที่ลูกคลอดก่อนกำหนดหรือลูกป่วย

2. โรงพยาบาลต่างๆ มีระบบโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่-ลูก ให้ความรู้และสนับสนุนแม่ให้นมลูกอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่ช่วงฝากครรภ์ การเตรียมความพร้อมก่อนคลอด การดูแลแม่หลังคลอด ให้คำปรึกษาเรื่องการให้นมบุตร สอนการเข้าเต้าอย่างถูกวิธี วิธีการดูแลเต้านม วิธีการดูแลทารกแรกเกิด

ในขณะเดียวกัน ทางโรงเรียนแพทย์ได้จัดหลักสูตรด้านนมแม่ให้เป็นวิชาพื้นฐานสำหรับนักศึกษาแพทย์ 6 ปี และพยาบาล 4 ปี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่ความรู้และประโยชน์ของนมแม่ในวงกว้าง ด้วยการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับทารกตั้งแต่แรกเกิดด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว

3. ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด มีการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระดับชุมชน ผ่านระบบชุมชนคนนมแม่ โดยความร่วมมือจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.)และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)ที่ใกล้ชิดกับคนในชุมชน มีการรณรงค์และกระตุ้นให้แม่ยุคใหม่ หันมาใส่ใจและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากขึ้น พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการให้นมบุตร การดูแลทารกหลังกลับบ้าน ในรูปแบบชุมชนที่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างจริงจัง

ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถขอคำปรึกษาหรือขอคำแนะนำในภาคปฏิบัติได้ที่ ‘คลินิกนมแม่’ จากในโรงพยาบาลต่างๆ ได้ อาทิ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น รวมถึงการขอคำปรึกษาโดยตรงได้ ผ่านเพจออนไลน์เกี่ยวกับนมแม่ อาทิ เพจมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย www.facebook.com/Thaibf และเพจนมแม่ www.facebook.com/thaibreastfeeding

นอกจากนี้ยังมีระบบให้คำปรึกษาแบบออนไลน์ 24 ชั่วโมงจากผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ทั่วประเทศ ผ่านแอปพลิเคชัน EVERYDAY DOCTOR สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี จัดโดยกรมอนามัย ร่วมกับ Unicef และบริษัท เอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด ซึ่งสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยสุดยอดสารอาหารที่ดีที่สุดจากคุณแม่ เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตอย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ

4. คุณแม่หลังคลอดที่ทำงานนอกบ้านหรือทำงานต่างจังหวัด สามารถส่งนมแม่ข้ามจังหวัดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในโครงการภาคีร่วมใจส่งรักส่งนมจากอกแม่สู่ลูกระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ร่วมกับมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และบริษัท เอเวอรี่เดย์ ด๊อกเตอร์ จำกัด ซึ่งสนับสนุนให้คุณแม่ทุกคน สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง

5. สถานที่ทำงานบางแห่งได้เริ่มจัดทำโครงการมุมนมแม่ เพื่อส่งเสริมให้แม่ที่กลับมาทำงานยังคงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถปั๊มนมให้ลูกได้ในที่ทำงานได้อย่างสะอาด ปลอดภัย และมีความมิดชิด รวมไปถึงมุมนมแม่ในห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ให้บริการสาธารณะต่างๆ

6. ผลักดันนโยบาลภาครัฐเรื่องกฎหมายลาคลอด จากลาคลอดได้ 3 เดือนเป็น 6 เดือน เพื่อให้แม่สามารถให้นมบุตรได้สำเร็จอย่างน้อย 6 เดือน ตามคำแนะนำองค์การอนามัยโลกที่ระบุว่า ทารกควรกินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยได้จนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับทางกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ในปี พ.ศ.2568 ว่าทารกต้องได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนเป็นร้อยละ 50 และเป็นเป้าหมายเดียวกันกับทุกประเทศทั่วโลก

ทางด้าน ศ.คลินิก ดร.พญ.นลินี จงวิริยะพันธุ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย กรรมการวิชาการ มูลนิธิศูนย์นมแม่ ได้กล่าวให้กำลังใจคุณหมอทุกคนไว้ว่า “การให้นมลูก ไม่ใช่เป็นงานของคุณแม่เพียงลำพัง คุณแม่ทำคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้คนรอบข้าง โดยเฉพาะทุกคนครอบครัว เป็นแรงสำคัญในการช่วยให้กำลังใจและอยู่เคียงข้างคุณแม่ เพื่อให้คุณแม่สามารถผลิตน้ำนมได้อย่างเพียงพอต่อลูกน้อย”

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.