เจ็บตึงคอ บ่า ไหล่ กินสมุนไพรอะไรดี?
จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าคนวัยทำงานร้อยละ 60 มีภาวะของโรคออฟฟิศซินโดรม โดยเฉพาะในยุค New Normal ที่คนส่วนใหญ่ล้วนใช้ชีวิตติดจออยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ เรียกได้ว่าแทบจะทุกเพศ ทุกวัย ไม่มีใครยอมให้อยู่ห่างมือ
จึงไม่น่าแปลกใจว่า เพราะเหตุใดหมอนวดถึงงานชุกจนไม่ได้หยุดมือ ส่วนนักกายภาพก็มีคิวคนไข้ยาวเป็นหางว่าว เพราะอาการยอดฮิตของชีวิตติดจอคงหนีไม่พ้นการเจ็บตึงคอ บ่า ไหล่ ปวดร้าวขึ้นศีรษะ ปวดแขนขา ชามือ ชาเท้า ซึ่งเป็นอาการของออฟฟิศซินโดรมทั้งสิ้น
แม้การรับประทานอาหารอาจไม่ได้ช่วยให้อาการปวดตึงทั้งหลายคลายตัวได้เหมือนการรีดเส้นของหมอนวด แต่พืชผักสมุนไพรหลายชนิดก็มีสรรพคุณในการช่วยบรรเทาความตึงให้ผ่อนคลายได้ดีนัก แต่ผักชนิดไหนควรรับประทานแบบใด ‘รายการ 400 กรัมจำให้แม่น’ จากเพจ โครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม ชวนหมอนัท-ณัฐพล วาสิกดิลก เจ้าของเพจใครไม่ป่วยยกมือขึ้น มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ ‘เจ็บตึงคอ บ่า ไหล่ กินสมุนไพรอะไรดี?’ เพื่อให้ความกระจ่าง ชี้ทางไปสู่ความสบายคลายกล้ามเนื้อกัน
ก่อนจะแนะนำเรื่อง เจ็บตึงคอ บ่า ไหล่ กินสมุนไพรอะไรดี หมอนัทอธิบายถึงสาเหตุของความปวดตึงจากการมีชีวิตติดจอว่า มาจากการนั่งผิดท่าและนานเกินไป ทำให้เลือดไปค้างอยู่ที่บริเวณกล้ามเนื้อต่างๆ อย่างเช่นคอ บ่า ไหล่ นานจนเกิดความร้อน อักเสบ และบวม ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการขยับตัว แต่ควรขยับอย่างเป็นเวลา
สิ่งสำคัญคือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากที่เคยตื่นนอนตอนเช้าแล้วหยิบโทรศัพท์มือถือนอนดูนั่นนี่กลิ้งตัวไปมาอยู่บนที่นอน ควรเปลี่ยนมาเป็นขยับร่างกายด้วยการยืดเหยียด เดิน วิ่ง เล่นโยคะ หรือทำอะไรก็ได้ให้หัวใจทำงาน อย่างที่เรียกกันว่า ‘คาร์ดิโอ’ ส่วนตอนเย็นหลังเลิกงาน หรือช่วงเวลาหลังหกโมงเย็น ควรยกให้เป็นเวลาของการผ่อนคลาย ด้วยการอ่านหนังสือ ดูหนังรักสบายๆ หรือสวดมนต์ทำสมาธิก่อนนอน หากทำ 2 อย่างที่กล่าวมาได้ หมอนัทการันตีว่าชีวิตดีขึ้นแน่นอน
ส่วนเรื่องการรับประทานพืชผักสมุนไพรอย่างไรให้อาการเจ็บตึงคอ บ่า ไหล่ ผ่อนคลายขึ้น หมอนัทมี 5 วิธีมาบอกกล่าว เพื่อให้ร่างกายของชาวออฟฟิศซินโดรมหายจากความปวด ร้าว รัดตึง!
1. ผักผลไม้ตระกูล ‘มะ’
เช่น มะขาม รับประทานเพื่อช่วยให้ร่างกายขับถ่ายได้ดี เมื่อเกิดอาการเสาะท้องเล็กๆ และขับถ่ายแบบท้องเสียอ่อนๆ ร่างกายที่รัดตัวอยู่จะค่อยๆ คลายออก ซึ่งการรับประทานมะขาม มะกรูด น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ควรต้องรับประทานแบบสด ไม่ผสมอาหาร จึงจะได้ผลดี
.
2. น้ำเปล่า
นอกจากการนั่งนานๆ จะทำให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรมแล้ว ยังนำไปสู่อีกหนึ่งโรคคือ ‘โรคเลือดข้นหนืด’ ซึ่งทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี เกิดอาการชามือ ชาเท้า ง่วนนอน อ่อนเพลีย ‘น้ำ’ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น โดยแต่ละวันควรดื่มน้ำไม่เกิน 2.5 ลิตร หรือประมาณ 8-10 แก้ว ไม่ควรดื่มน้ำเยอะมากเกินไป เพราะจะทำให้ไตทำงานหนัก และควรดื่มทีละน้อยเพื่อการดูดซึมที่ดี ร่างกายที่มีน้ำมากขึ้นจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น สมองดี เลือดสามารถเลี้ยงปลายมือปลายเท้าได้อย่างทั่วถึง
3. ขิง กะเพรา โหระพา ไทม์ โรสแมร์รี
พืชผักสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น ความเผ็ดร้อนเบาๆ ของผักเหล่านี้จะช่วยทำให้หลอดเลือดสะอาด ไหลเวียนสะดวก และยังช่วยย่อยอาหารได้ดี ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ยังส่งผลให้ร่างกายไม่สะสมน้ำตาลในเลือดมากเกินไป หลายคนอาจสงสัยว่า ทั้งที่ไม่ได้รับประทานหวานมากมาย แต่ทำไมน้ำตาลในเลือดยังสูง นั่นก็เป็นเพราะกระบวนการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ น้ำตาลในเลือดจึงสูงกว่าปกติ
4. เห็ดหูหนู และถั่วทั้งหลาย
ทั้งถั่วแดง ถั่วดำ มีสรรพคุณช่วยบำรุงไต เมื่อไตแข็งแรง ก็จะไม่ปวดหลัง ทั้งช่วยสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้นด้วย แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ หากรับประทานถั่วมากเกินไปจะทำให้เลือดข้น จากที่ช่วยบำรุงไตอาจกลายเป็นทำร้ายไตให้ทำงานหนักขึ้น
5. พุทราจีน
ผลไม้ที่มีสรรพคุณในการช่วยทำให้ร่างกายอุ่น เมื่อร่างกายอุ่น กล้ามเนื้อจะไม่แข็งตึงจนเกินไป นอกจากพุทราจีนแล้ว สมุนไพรจำพวกขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ ยังเป็นกลุ่มที่ช่วยทำให้ร่างกายอุ่นได้เช่นกัน
เคล็ดลับสำคัญของการรับประทานพืชผักสมุนไพรให้สัมฤทธิ์ผล หมอนัทแนะนำว่า ทุกอย่างต้องรับประทานอย่างพอดี อะไรที่มากหรือน้อยเกินไปย่อมไม่เกิดผลดี
หมอนัทยังฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า การป่วยเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม ไม่ใช่แค่อาการเจ็บตึงคอ บ่า ไหล่ เท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งโรคในกลุ่ม NCDs แถมให้เป็นแพ็กเกจ ดังนั้นจึงต้องแบ่งเวลาให้ชัดเจน เวลางานควรทำงาน และเมื่อถึงเวลาพักก็ควรพักอย่างจริงจัง ประกอบกับการออกกำลังกาย รับประทานผักผลไม้ให้ดีและเพียงพอ อย่างน้อยก็ช่วยให้ป่วยน้อยลงได้มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว