10 ปีเทศกาลกินสบายใจ ตลาดที่เกิดจากความรักของเครือข่าย เพื่อสร้างเส้นทางอาหารสุขภาวะ

10 ปีเทศกาลกินสบายใจ ตลาดที่เกิดจากความรักของเครือข่าย เพื่อสร้างเส้นทางอาหารสุขภาวะ

ถ้าคุณกำลังเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง คงไม่ได้เห็นผลในวันนี้ ทุกอย่างล้วนต้องใช้เวลา บางคนคิดว่าเป็นเรื่องยาก แต่มันอาจจะเป็นเรื่องง่าย เมื่อคนที่มีความรักความสนใจตรงกันมาพบกัน จนเกิดเครือข่ายที่ทำงานประสานกันอย่างลงตัว

เรื่องเล่าจากเวทีเสวนา ‘เส้นทางอาหารเพื่อสุขภาวะ’ ซึ่งจัดขึ้นในงานเทศกาลกินสบายใจห่างไกลโรค ปี 10 ภายใต้มูลนิธิสื่อสร้างสุข ณ ห้างสรรพสินค้าสุนีย์ จังหวัดอุบลราชธานี ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พลังของความรักเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

298350381 470197268449974 992808658484436743 n Gindee Club กินดี คลับ

สุชัย เจริญมุขยนันท เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้ริเริ่มมูลนิธิสื่อสร้างสุข กล่าวบนเวทีเสวนา ‘เส้นทางอาหารเพื่อสุขภาวะ’ ถึงจุดเริ่มต้นของมูลนิธิฯ ว่า เกิดขึ้นจากความรัก วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ โดยนำทฤษฎี 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี และนำคนมาร่วมคิดร่วมทำ คือพลังสังคม พลังวิชาการ พลังนโยบาย

ซึ่งในเวลานั้น สสส.ก็เริ่มทำงานในประเด็นความมั่นคงทางอาหารด้วย จึงเกิดความร่วมมือกัน โดยมูลนิธิใช้สื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารผ่านรายการกินสบายใจ ออกอากาศผ่านเคเบิลทีวี สร้างเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ และประสานคนปลูกกับคนกินบนพื้นที่ตลาดกินสบายใจ ที่ได้รับการสนับสนุนพื้นที่จากห้างสรรพสินค้าสุนีย์ ซึ่งถือเป็นภาคเอกชนที่สนับสนุนคนท้องถิ่น จนเกิดเป็นการทำงานร่วมกัน

จินตะหลา วีระมาตย์ Gindee Club กินดี คลับ

จินตะหลา วีระมาตย์ เจ้าหน้าที่การตลาด ห้างสุนีย์ทาวเวอร์ ตัวแทนผู้บริหารของห้างสรรพสินค้าสุนีย์ สถานที่จัดงานตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 กล่าวว่า ผู้บริหารอยากสนับสนุนเกษตรกรให้มีพื้นที่ในการขายของ และให้เกษตรกรได้พบปะกับผู้บริโภค จึงเกิดตลาดกินสบายใจขึ้นมา

และด้วยมองว่า ‘อาชีพเกษตรกรควรเป็นอาชีพที่ยั่งยืน’ จึงต่อยอดให้เกิดการประกันราคาขึ้นมา เพื่อขายในราคาที่เหมาะสมได้ ให้เกษตรกรมองเห็นว่าอาชีพนี้สามารถสร้างรายได้ที่เหมาะสม มั่นคง และอยากจะทำต่อ ห้างสุนีย์จึงสนับสนุนพื้นที่และทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้เกิดผู้บริโภคกลุ่มนี้ด้วย

ภญ.กาญจนา มหาพล Gindee Club กินดี คลับ

ตัวแทนผู้บริโภคอย่าง ภญ.กาญจนา มหาพล รอง นพ.สสจ.อุบลราชธานี ผู้บริโภคและผู้ทำงานด้านสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลอาหารปลอดภัยด้วยเกษตรอินทรีย์ เป็นนโยบายของสาธารณสุขอยู่แล้ว และมียุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ให้โรงพยาบาลอุดหนุนเกษตรกรอินทรีย์ ด้วยการซื้อผลผลิตเพื่อนำมาผลิตอาหารปลอดภัยให้ผู้ป่วย ซึ่งการได้มาเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลกินสบายใจ ก็ทำให้รู้จักเกษตรกรผู้ปลูกวัตถุดิบ

“กว่าจะสำเร็จก็ต้องมาคุยกันว่าจะปลูกอะไร ทำเมนูอะไรให้คนไข้ เพราะคนไข้ไม่สามารถกินได้ทุกเมนู ต้องคุมเกลือแร่ ผักอะไรที่มีโพแทสเซียมเยอะก็เอามาทำเมนูไม่ได้ และนอกจากทำให้ผู้ป่วยก็ต้องกระจายให้ญาติผู้ป่วย ให้เจ้าหน้าที่ได้ซื้อด้วย จึงเกิดตลาดสีเขียวในพื้นที่โรงพยาบาล ซึ่งปกติสาธารณสุขชอบไปชักชวนให้คนอื่นทำ แต่ตอนนี้เราได้มาทำกับตัวเอง ต้องขอบคุณเครือข่ายกินสบายใจที่ทำให้มีตลาดนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าเราต้องดูแลสุขภาพเราด้วยอาหารอินทรีย์ นี่ละเส้นทางอาหารเพื่อสุขภาวะ”

ปัญจา จันทสิงห์ Gindee Club กินดี คลับ

ด้านเครือข่ายโรงเรียนกินสบายใจ ที่นำโดย ปัญจา จันทสิงห์ รอง ผอ.โรงเรียนดอนมดแดง (บ้านดงบัง) ครูผู้มองเห็นปัญหาการศึกษาจากสุขภาวะอนามัยที่ไม่ดีของนักเรียน เชื่อว่า ‘เด็กจะเรียนดี ต้องมาจากอาหารที่ดีก่อน’ งานวิชาการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แต่จะทำเรื่องอาหารก็ดูขัดแย้งกัน จึงได้ผนวกสองเรื่องนี้เป็นงานกิจกรรมและงานวิชาการ และออกแบบการจัดการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระให้มาร่วมกับกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียง แต่ก็ยังไม่เกิดผลดีเท่าที่ควร เพราะครูในโรงเรียนเองก็ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตร การทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพอนามัย

“ตอนนั้นเราจ้างแม่ครัว แล้วแต่ว่าแม่ครัวจะทำอะไรให้นักเรียนกิน เพราะงบอาหารกลางวันขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนซึ่งมีอย่างจำกัด เราจัดเวรกับครูไปตลาด เลือกซื้อวัตถุดิบให้แม่ครัวทำอาหารให้นักเรียน แล้ววันหนึ่งสื่อสร้างสุขเข้ามาเชื่อมโยงโรงเรียน เกษตรกร ผลที่ออกมาคือเด็กนักเรียนมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ร่างกายสมส่วนขึ้น จากที่คุณครูร่วมกันทำ สิ่งที่เราได้มาเจอกัน มันเกิดจากความรัก และความรับผิดชอบ รวมทั้งคำว่าหน้าที่ ที่เราต้องคิดและมองถึงกลุ่มเป้าหมาย นั่นคือนักเรียน” รอง ผอ.โรงเรียนดอนมดแดงกล่าว

ศราวุธ ตรีอินทอง Gindee Club กินดี คลับ

ตัวแทนเกษตรกรกินสบายใจ ศราวุธ ตรีอินทอง แห่งบ้านกะสวนฟาร์ม จากเกษตรกรที่ไม่มีความรู้ด้านการเกษตร แต่เกิดจุดเปลี่ยนเมื่อได้เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ ข้อกำหนด และรู้จักเครือข่ายเกษตรกรกินสบายใจ เล่าให้ฟังว่า

“กินสบายใจทำให้เห็นอาชีพเกษตรกรที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งมีรูปแบบที่ผมสามารถนำมาเป็นรายได้ แต่การเกษตรจะยั่งยืนได้ต้องคนเข้ามามีส่วนร่วม ให้เขารู้จักเราด้วยการสร้างแบรนด์บ้านกะสวนฟาร์มขึ้นมา ผมมองว่าการทำงานสร้างสุขภาวะ เป็นการสร้างการตระหนักให้ผู้บริโภคเห็นว่า ที่เขาบริโภคมันคืออะไร มาจากไหน ดีต่อเขาอย่างไร ซึ่งการเปิดคาเฟ่ของผมทำให้เขาเห็นตรงนี้

“ผมคิดอยู่สามอย่างคือ ‘การสร้าง’ มาจากเกษตร ‘การส่งเสริม’ มาจากหน่วยงานต่างๆ หรือทางห้างสุนีย์ ที่เข้ามาหนุนเสริมให้ได้สามารถยืนอยู่ และพัฒนาต่อยอดให้ยั่งยืนได้ โดยมี ‘การสนับสนุน’ จากผู้บริโภค ให้เขารู้ว่ามาจากความตั้งใจของผู้ผลิต ผมว่าเส้นทางหลักนี้มันช่วยสร้างเส้นทางสุขภาวะให้ยั่งยืนได้” เจ้าของกะสวนฟาร์มกล่าว

ดร.สง่า ดามาพงษ์ Gindee Club กินดี คลับ

ดร.สง่า ดามาพงษ์ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.ที่ปรึกษากรมอนามัย ผู้มองการเติบโตเครือข่ายกินสบายใจ มองว่าการรณรงค์เรื่องอาหารปลอดภัยที่อุบลราชธานีต่างจากที่อื่น เพราะใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินเรื่อง ซึ่งสื่อทำให้คนมารวมกลุ่มกันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ที่ผ่านมาได้สร้างสุขภาพและโภชนาการ กินสบายใจทำให้คนมีรายได้และเป็นสุข ชุมชนก็ได้สิ่งเหล่านี้

297813184 468544605281907 1835584892836139230 n 1 Gindee Club กินดี คลับ

“มูลนิธิสื่อสร้างสุขไม่ได้ทำงานเพื่อคนอุบลฯ อย่างเดียว แต่กำลังทำงานเพื่อตอบโจทย์ประเทศไทย คำว่าความรักไม่ได้แค่รักที่จะทำอาหารปลอดภัยให้คนอื่นกินแล้วไม่เป็นมะเร็ง แต่อาจารย์สุชัยกำลังบอกว่า เรากำลังจะรักโลก กำลังแบ่งปันให้กับผู้อื่น คำว่าความรักนี้ทุกคนในเครือข่ายได้ช่วยกันทั้งหมด” ดร.สง่ากล่าวทิ้งท้าย

ภาพ: กินสบายใจ

tag:

ผู้เขียน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.