ตลาดสีเขียว พื้นที่แห่งการเข้าถึงอาหารปลอดภัยอย่างเท่าเทียม
ความมั่นคงทางอาหาร เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมากว่าครึ่งศตวรรษ โดยเริ่มต้นในช่วงทศวรรษ 1960 ที่โลกเกิดสถานการณ์ขาดแคลนอาหาร ทั้งจากเหตุการณ์ทางการเมืองและภัยธรรมชาติในประเทศมหาอำนาจ การแก้ไขในเวลานั้นจึงเป็นการเร่งการผลิตเพื่อให้มีเพียงพอ ภาคเกษตรกรรมหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีและสารเคมีเพื่อให้ได้มาซึ่งปริมาณ
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความอดอยากจะหมดลง เพราะในกลุ่มคนยากจนยังคงไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ จนทศวรรษ 1980 การเข้าถึงอาหารจึงถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็น เพื่อหาหนทางให้อาหารสามารถกระจายถึงทุกคนได้จริงๆ และเท่าเทียมโดยไม่มีช่องว่างทางสถานะ
ล่วงมาถึงทศวรรษที่ 1990 คำว่าความมั่นคงทางอาหาร ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงความมีกินอย่างเพียงพอและเข้าถึงได้เพียงเท่านั้น แต่ขยายไปถึงมิติความปลอดภัยทางอาหาร ที่ต้องได้ทั้งคุณภาพ คุณค่า และโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพด้วย และความมั่นคงทางอาหารในความหมายนี้ ได้ถูกนำมาเป็นโจทย์ในการขับเคลื่อนการจัดการด้านอาหารอย่างเป็นสากล ว่าแค่มีอาหารบริโภคนั้นยังไม่เพียงพออีกต่อไป แต่อาหารนั้นต้องเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพด้วย

สอดคล้องกับการให้ความหมายความมั่นคงทางอาหาร ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ที่ว่า ความมั่นคงทางอาหาร คือ ‘การที่ทุกคนมีความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีโภชนาการทั้งในทางกายภาพและเศรษฐกิจ ในการตอบสนองต่อความต้องการ ความพึงพอใจในอาหาร เพื่อการมีชีวิตและสุขภาพที่ดี’ ครอบคลุม 4 มิติ คือ ความเพียงพอของอาหาร การเข้าถึงอาหาร การใช้ประโยชน์ในด้านโภชนาการ และมีเสถียรภาพ คือไม่มีความเสี่ยงจากการขาดแคลนอาหาร
และในกรอบยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่ในไทย โดยคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ก็ได้มีหลักการสำคัญคือ การก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน ที่เน้นการเคลื่อนเพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่ความมั่นคงและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยการผลิต การบริหารจัดการในห่วงโซ่อาหารให้เกิดการผลิต และระบบการกระจายอาหารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายรวมถึงการกระจายอาหารที่ส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อโภชนาการ และสุขภาวะของประชาชนด้วย
กระบวนการของ ‘ตลาดสีเขียว’ จึงมีบทบาทในการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงทางอาหาร ที่ตอบสนองต่อทุกมิติ ด้วยเป็นพื้นที่กระจายอาหารที่เกิดจากระบบการผลิตอาหารปลอดภัย และเกื้อกูลระบบนิเวศ ที่ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกรที่เป็นฐานการผลิตอาหารปลอดภัยและมีความหลากหลายเกิดขึ้นหลายกลุ่ม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เรามีแนวโน้มของการผลิตอาหารปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น และกระจายผลผลิตไปสู่ตลาดสีเขียวที่มีอยู่ตามภูมิภาค ทั้งในชุมชนท้องถิ่นและในเมือง ที่ปัจจุบันมีจำนวนตลาดที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นจากเดิม
ทั้งระบบการผลิตที่ขยายตัว และตลาดสีเขียวที่เพิ่มจำนวนและกระจายตัวเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัยได้อย่างทั่วถึง และมีโอกาสในการบริโภคอาหารปลอดภัยและดีต่อสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน
และมากกว่าการเป็นพื้นที่กระจายอาหาร ตลาดสีเขียวยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่สื่อสารความเข้าใจกระบวนการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมี และเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงระบบการผลิตให้มีความหลากหลายมากขึ้นอีกด้วย
ที่มาข้อมูล:
1. หนังสือรวมพลังสร้างระบบอาหารสุขภาวะอย่างอย่างยืน วาระครบรอบ 20 ปี สสส.