เชื่อหรือไม่ว่า เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้ โดยเริ่มต้นจากจานข้าวของตัวเอง ?
เรื่องนี้ไม่ใช่การกล่าวเกินเลย เพราะหากเราหันมาทำความเข้าใจกับอาหารจานตรงหน้า เราจะพบว่าสิ่งที่อยู่ในจานนั้นเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศทั้งหมด มีข้อมูลจากรายงานนโยบายอาหารโลก 2022 บ่งชี้ว่า อาหารที่เรากินมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1 ใน 3 จากระบบการผลิต
และภาวะทุพโภชนาการก็เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ โดย 40% ของประชากรโลก ไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้เพียงพอ ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง พฤติกรรมการกินก็ส่งผลต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตเพราะอาหารส่งผลต่อสุขภาพของเราโดยตรง
และเมื่ออาหารเป็นต้นตอสำคัญของปัญหา การจะแก้ปัญหาจึงวกกลับมาที่จุดเริ่มต้นคือระบบอาหาร ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงระบบอาหารได้นั้น ต้องเริ่มจาก ‘คนกิน’ ก่อนเป็นอันดับแรก และศักยภาพในการเลือกกิน จะยกระดับให้คนทุกคนเป็น ‘พลเมืองอาหาร’ ที่จะเป็นพลังของการเปลี่ยนแปลงได้
ทำไมการสร้างพลเมืองอาหารจึงสำคัญ ?
เพราะอาหารเป็นพื้นที่หนึ่งทางสังคมที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนเรื่องราวของผู้ผลิต (โดยเฉพาะเกษตรกร) และผู้บริโภค ที่สัมพันธ์กันกับฐานทรัพยากรอาหาร การเร่งผลิตในปริมาณมากทำให้เกิดการแย่งชิงฐานทรัพยากรอาหาร ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงแหล่งอาหาร การสูญเสียอัตลักษณ์การทำกินของท้องถิ่น และความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดภาวะเปราะบางของระบบอาหาร
พลเมืองอาหาร จึงเป็นแนวทางที่หยิบยกมาเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขภาวะของระบบอาหาร ด้วยว่าสิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมือง มีความเกี่ยวโยงต่อการจัดการระบบอาหารของตนเองเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งนิยามของ ‘พลเมืองอาหาร’ นั้นหมายถึง คนหรือผู้คนที่ตระหนักถึงศักยภาพ สิทธิ บทบาทหน้าที่ในการเข้าถึงและการบริโภคอาหารสุขภาวะ โดยสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตนเองและสังคม
ความสำคัญของพลเมืองอาหาร แสดงให้เห็นในมิติที่เชื่อมโยงกันคือ ความตระหนักของบุคคลจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย นำไปสู่การร่วมมือกันกับผู้อื่นเพื่อเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการรับรู้เรื่องอาหารและเข้าใจถึงการกินจะเกี่ยวโยงกับระบบอาการในภาพรวมได้
พลเมืองอาหารจึงสร้างการเปลี่ยนแปลงสามระดับ คือระดับตนเอง ร่วมมือกับผู้อื่น ร่วมกับประชาคมโลกจากการเข้าใจระบบอาหารในภาพรวม และลงมือเปลี่ยนจากจุดที่ตนอยู่ นั่นก็คือจากจานอาหารของตนเองนั่นเอง
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ปักหมุดพัฒนาพลเมืองอาหาร
การสร้างพลังผู้คน พลังความรู้ และพลังความร่วมมือ ให้เกิดขึ้นในระบบอาหาร เพื่อเปลี่ยนวิถีการกินอาหารในทุกวัน ด้วยการสร้างอาหารและกินอาหารที่เกื้อหนุนให้เกิดระบบการผลิตอาหารที่มีโภชนาการ มีคุณภาพ สร้างความปลอดภัย สร้างความมั่นคงทางอาหาร และความเป็นธรรม จึงเป็นอีกหนึ่งการปักหมุดที่สำคัญของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ซึ่งวางเป้าพัฒนาพลเมืองอาหาร ในแผนระยะ 10 ปี เอาไว้ว่า
- พลเมืองอาหารเป็นการดูแลสุขภาพตนเองในขั้นพื้นฐานของคนทุกคน
- พลเมืองอาหารคือการเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การลงมือทำ การสนับสนุนกันและกัน จนถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย
- พลเมืองอาหารทำเรื่องเล็ก แต่ผลกระทบยิ่งใหญ่ จากเรื่องอาหารที่เรากินสามมื้ออยู่ทุกวันส่งผลสิ่งแวดล้อม
- การสร้างพลเมืองอาหารควรมุ่งทำให้ห่วงโซ่การผลิตอาหารจนถึงผู้บริโภคสั้นที่สุด อยู่ในกรอบมาตรฐานที่ดี มีการเฝ้าระวังอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่
- พลเมืองอาหารที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องมีการเติมพื้นฐานความรู้ให้เพียงพอและเท่าทันด้านอาหารในการดูแลตนเองและครอบครัว ให้แก่ประชาชนและเยาวชน ‘กินเป็น’ ทั้งด้านโภชนาการ ความปลอดภัยและความมั่นคงของอาหาร
ในเรื่องนี้ วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด ผู้รับผิดชอบโครงการบูรณาการยุทธศาสตร์แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่า
“พลเมืองอาหารมาจากการที่เราตระหนัก เกิดเป็นความรับผิดชอบ แล้วไปร่วมมือกับคนอื่นเพื่อสร้างชุมชนเล็กๆ แบบใหม่ ให้เกิดการมีส่วนร่วม เกิดความรู้แลกเปลี่ยนกัน”
การจะปลุกตัวตนของความเป็นพลเมืองอาหารขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องซับซ้อน วัลลภายกตัวอย่างว่า คำแนะนำง่ายๆ ที่บอกผ่านกันในการปรุงอาหาร กินอะไรแล้วทำให้ร่างกายดีขึ้น หรือแนะนำวัตถุดิบและแหล่งซื้อที่ผู้ผลิตที่ต่อใส่ใจความปลอดภัยของอาหารและสิ่งแวดล้อมนำมาจำหน่ายโดยตรง ซึ่งการได้พูดคุยกันจะทำให้เกิดการเรียนรู้และต่อยอดในหลายมิติ
“ความรู้ที่นักโภชนาการบอกมานั้นดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ได้จากการส่งต่อกันก็เป็นการเรียนรู้และเป็นความรู้ที่ค้นพบได้ตลอดเวลา food community มันสร้าง food literacy
“เมื่อเราตระหนักแล้วว่าอาหารมีผลต่อเราและสิ่งรอบตัวหรือสิ่งแวดล้อมยังไง เราก็ค่อยๆ ทำไป ทำทีละเล็กละน้อย ทุกคนทำได้ คนอยู่คอนโดก็ทำได้ ไม่มีที่ปลูกผักก็ทำสวนผักที่ระเบียงได้ หนึ่งสัปดาห์กำหนดไว้ว่าวันหยุดเสาร์อาทิตย์เราทำอาหารกินเอง ซื้อวัตถุดิบที่เชื่อมตรงกับเกษตรกร จะซื้อที่ตลาดเขียวหรือซื้อออนไลน์ก็ได้”
การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่ แล้วแชร์สิ่งที่ได้เรียนรู้กับคนอื่น จะนำเราไปสู่เรื่องอื่นๆ ที่ใหญ่ขึ้น เป็นพลังเล็กๆ ที่เริ่มต้นจากจานข้าว ซึ่งสามารถยกระดับระบบอาหารให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่เราอาจไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ
ที่มา:
- ความเป็นพลเมืองอาหาร: ปฏิบัติการทางสังคมเพื่อขับเคลื่อนระบบอาหารอย่างยั่งยืน