กินข้าวใหม่ตลอดปี ข้อมูลดีๆ จาก ‘ปฏิทินข้าวใหม่’

คำว่า ‘เมืองไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ’ ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงในความหมายของความหลากหลายทางพันธุกรรม เพราะภูมินิเวศที่อยู่ในเขตร้อนชื้น และด้วยการมีพื้นที่ที่เหมาะสม จึงมีการประเมินกันว่าในเมืองไทยเรานั้นอาจเคยมีข้าวอยู่มากถึงสองหมื่นสายพันธุ์ แต่ปัจจุบันนั้นกลับเหลืออยู่เพียงหลักพัน และหากนับจากสายพันธุ์ที่หาซื้อได้ง่ายทั่วไปแล้ว อาจเหลืออยู่เพียงหลักสิบเท่านั้น

ใน ‘ปฏิทินข้าวใหม่’ ที่โครงการสวนผักคนเมืองได้จัดทำขึ้น นับเป็นการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ข้าวไว้อย่างน่าสนใจ เพราะเป็นปฏิทินที่พาเราไปรู้จักกับสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านของไทย ซึ่งต่างก็มีเอกลักษณ์ในรสสัมผัส และยังมีช่วงเวลาของการให้ผลผลิตที่ต่างกัน เมื่อประมวลดูแล้ว เราจึงพบว่า ‘ข้าวใหม่’ ไม่ใช่มีเพียงแต่ข้าวที่เก็บเกี่ยวช่วงปลายปีอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ หากแต่ความหลากหลายนี้ ทำให้เราสามารถกินข้าวใหม่ได้ตลอดทั้งปีเลยทีเดียว

#มกราคม 

🍚 ข้าวเม็ดฝ้าย ข้าวสายพันธุ์ภาคใต้ที่พบมากในจังหวัดตรังและนครศรีธรรมราช มีเมล็ดสีดำอมม่วง หอมนุ่ม มีความกรึบจากเปลือกข้าว นิยมใช้ทำขนมหรือบดทำแป้งข้าว (วิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวปลอดสารพิษ จ.ตรัง โทร. 090-175-8078) 

🍚 ข้าวหอม 7 บ้าน เป็นข้าวไร่สายพันธุ์ท้องถิ่นของภาคใต้ มีแหล่งกำเนิดที่กระบี่ เอกลักษณ์ของข้าวสายพันธุ์นี้คือความนุ่มและหอมนาน (วิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวปลอดสารพิษ จ.ตรัง โทร. 090-175-8078)

🍚 ข้าวหอมหัวบอน อีกข้าวพันธุ์พื้นถิ่นของจังหวัดกระบี่ เมล็ดมีสีแดงอมส้มคล้ายข้าวสังข์หยด แต่หุงแล้วจะมีความนิ่มกว่า มีกลิ่นหอมและรสชาติคล้ายหัวบอน หรือเผือกในภาษาใต้ จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘หอมหัวบอน’ (วิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวปลอดสารพิษ จ.ตรัง โทร. 090-175-8078)

🍚 ข้าวน่าน 59 สายพันธุ์ข้าวเหนียวที่พัฒนามาจาก กข6 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ข้าวเหนียวดั้งเดิมของภาคเหนือและอีสาน แต่มีข้อด้อยตรงไม่ต้านทานโรค และมีลำต้นสูง จึงมีการพัฒนาสายพันธุ์มาสู่ น่าน 59 ที่ต้นเตี้ย เก็บเกี่ยวง่าย และต้านทานโรคได้ดี มีกลิ่นหอม นุ่ม เหมาะกับการทำขนม (วิสาหกิจชุมชนเกษตรฮักน่าน จ.น่าน โทร. 082-190-6902)

#กุมภาพันธ์

🍚 ข้าวเหนียวดำลืมผัว มีกำเนิดในชุมชนชาวม้งทางภาคเหนือ เมล็ดมีสีดำคละน้ำตาล หุงแล้วนุ่มหอมจนมีตำนานว่าอร่อยจนแม่ครัวกินเพลินลืมเก็บไว้ให้ผัว มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ป้องกันการเกิดโรคหัวใจและมะเร็ง ปัจจุบันปลูกแพร่หลายทั้งในภาคเหนือและอีสาน (วิสาหกิจชุมชนตลาดสีเขียวคนทาม จ.ศรีสะเกษ โทร. 093-340-3570)

🍚 ข้าวหอมใบเตย ข้าวพันธุ์พื้นบ้านแถบภาคเหนือตอนล่างและอีสาน เมล็ดสีเขียวครีม เมื่อหุงสุกมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย เนื้อนุ่มหนึบ มีน้ำตาลต่ำ เหมาะกับผู้สูงอายุหรือคนที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด (วิสาหกิจชุมชนตลาดสีเขียวคนทาม จ.ศรีสะเกษ โทร. 093-340-3570, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.มหาสารคาม โทร. 081-544-3259) 

🍚 ข้าวนิลประภาส ข้าวแห่งทุ่งนครชัยศรีที่ปรับปรุงสายพันธุ์โดย ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการและชาวนาผู้ลงลึกในการพัฒนาข้าวสายพันธุ์พื้นบ้าน มีเอกลักษณ์ตรงเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวมีสีนิล หุงนุ่มหนึบ ได้ข้าวสีหวานสวย อยู่ท้อง อิ่มนาน เหมาะกับคนต้องการลดน้ำหนัก (วิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนลานตากฟ้า จ.นครปฐม โทร. 087-552-2262)

#มีนาคม

🍚 ข้าวเบายอดม่วง ข้าวพื้นถิ่นจังหวัดตรัง เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีม่วงคละเขียว หุงสุกแล้วมีสีคล้ายยอดอ่อนต้นมะม่วงเบา อันเป็นที่มาของชื่อ นุ่มหอม มีสัมผัสกรึบจากเปลือกข้าว เหมาะกินกับแกงใต้รสจัด เป็นข้าวที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ โปรตีนสูง เหมาะกับผู้สูงอายุ (วิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวปลอดสารพิษ จ.ตรัง โทร. 090-175-8078)

🍚 ข้าวสังข์หยด ข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นพัทลุง ชื่อสังข์หยดเพี้ยนมาจาก ‘สั่งหยุด’ เพราะกินอร่อยจนต้องสั่งให้หยุดกิน มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และดีต่อระบบขับถ่าย เพราะเป็นข้าวที่ย่อยง่าย และมีกากใยสูง (อารยะฟาร์ม จ.ร้อยเอ็ด โทร. 097-328-2873, ห้องเรียนท้องนาเขาคูหา จ.สงขลา โทร. 081-542-2649)

🍚 ข้าวบือซูคิ ข้าวดอยพันธุ์พื้นเมืองของชาวปกาเกอะญอ มีความพิเศษตรงความเหนียวนุ่ม หุงขึ้นหม้อ ชาวปกาเกอะญอจะเกี่ยวข้าวบือซูคิช่วงปลายปี แต่จะเริ่มแจกจ่ายหรือขายให้คนนอกครอบครัวหลังพิธีเอาะบือโข่ หรือเทศกาลกินข้าวใหม่ของชาวปกาเกอะญอ คือช่วงเดือนมีนาคม (เครือข่ายลุ่มน้ำวาง จ.เชียงใหม่ โทร. 096-416-9661)

#เมษายน 

🍚 ข้าวเนียงกวง ข้าวมงคลที่มักปรากฏอยู่ในพิธีกรรมของชาวอีสานใต้ คำว่า ‘เนียง’ หมายถึง ผู้หญิง (ระลึกถึงแม่โพสพ) ‘กวง’ หมายถึง คงอยู่ ไม่หนีหายจากไป ชาวเขมรนิยมนำมาใช้ในพิธีแต่งงานหรือขึ้นบ้านใหม่ โดยปลูกแซมไว้ในนา เพราะเชื่อว่าเป็นข้าวที่จะช่วยดูแลนาให้ปลอดภัยตลอดฤดูกาล มีคาร์โบไฮเดรตสูง ให้พลังงานสูง กินแล้วอิ่มนาน ชาวอีสานใต้นิยมนำมาทำขนมจีนหรือลอดช่องช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพราะเป็นข้าวมงคล (กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีทมอ จ.สุรินทร์ โทร. 098-843-9693)

🍚 ข้าวหอมกระดังงา มีต้นกำเนิดในนราธิวาส หุงสุกแล้วหอมคล้ายกลิ่นกระดังงา เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีแดงอ่อน เนื้อนุ่มแต่ไม่เละ นิยมหุงกินกับแกงใต้ มีโปรตีน ธาตุเหล็ก และสารต้านอนุมูลอิสระสูง ป้องกันโรคเหน็บชา บำรุงกระดูกและเลือด (วิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวปลอดสารพิษ จ.ตรัง โทร. 090-175-8078)

🍚 ข้าวขาว ข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นสงขลา ทั้งเปลือกข้าวและข้าวสารมีสีขาวสะอาด นุ่ม หอม ติดรสมันเล็กน้อย นิยมหุงกินกับแกงรสจัดหรือน้ำพริก ช่วยเสริมรสอาหาร (เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.สงขลา โทร. 080-137-9043)

#พฤษภาคม

🍚 ข้าวหอมมะลิแดง พัฒนาสายพันธุ์มาจากข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีเยื่อหุ้มสีแดงสด กลิ่นหอม เนื้อนุ่ม มีน้ำตาลต่ำ และให้โภชนาการสูง เหมาะกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง (กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โทร. 086-010-7212)

🍚 ข้าวหอมปทุมเทพระยะน้ำนม เป็นข้าวที่เก็บเกี่ยวระยะน้ำนมซึ่งข้าวยังไม่สุกเต็มที่ ด้านในเมล็ดข้าวจึงชุ่มฉ่ำเป็นครีมคล้ายน้ำนม ทำให้มีความหอมนุ่ม และโภชนาการสูงเป็นพิเศษ มีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าข้าวสุกเต็มที่ถึง 2 เท่า (กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โทร. 086-010-7212)

🍚 ข้าวเหนียวเขาวง ข้าวเหนียวพันธุ์ กข6 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมในภาคอีสานและเหนือ แต่ปลูกในผืนดินภูเขาไฟจังหวัดกาฬสินธุ์ มีกลิ่นหอมนวล สุกแล้วไม่แฉะติดมือ ยังเนื้อนุ่มแม้จะนึ่งทิ้งไว้จนเย็น (วิสาหกิจชุมชน Smile Community จ.กาฬสินธุ์ โทร. 094-273-0444) 

#มิถุนายน

🍚 ข้าวหอมเลื่องลือ เป็นข้าวที่พัฒนาสายพันธุ์ในแถบภาคเหนือตอนล่าง ด้วยการผสมพันธุ์ข้าวหอมมะลิแดงกับข้าวหอมปทุม ได้ข้าวสีแดงที่หอมนุ่ม ให้โภชนาการสูงโดยเฉพาะธาตุเหล็กและสังกะสี มีน้ำตาลต่ำ เหมาะกับคนเป็นโรคเบาหวานหรือผู้สูงอายุ (มูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ โทร. 081-688-4443)

🍚 ข้าวเกยไชย ข้าวพัฒนาสายพันธุ์จากนครสวรรค์ ด้วยการผสมข้าวบาสมาติของอินเดียกับข้าวช่อราตรีของไทย หุงแล้วให้เนื้อนุ่มหนึบ มีเมล็ดยาวคล้ายข้าวบาสมาติ เหมาะกับนำไปหุงทำข้าวหมก (มูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ โทร. 081-688-4443)

🍚 ข้าวชมนาด อีกหนึ่งข้าวพัฒนาสายพันธุ์จากนครสวรรค์ มีเนื้อข้าวที่หอมนุ่มหนึบ ติดมันเล็กน้อยเป็นเอกลักษณ์ สุกแล้วมีกลิ่นหอมละมุนคล้ายดอกชมนาด หุงทิ้งไว้จนเย็นก็ยังเนื้อนุ่ม (มูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ โทร. 081-688-4443)

#กรกฎาคม

🍚 ข้าวก่ำน้อย ข้าวเหนียวสายพันธุ์พื้นบ้านเมล็ดสั้นป้อม เป็นข้าวมงคลที่มักอยู่ในพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ช่วงเข้าพรรษาในเดือนกรกฎาคม มีความเหนียวนุ่ม เหมาะนำมาใช้ทำขนม หากสีเป็นข้าวกล้องข้าวจะร่วน จึงควรใช้วิธีหุงเหมือนข้าวเจ้า แต่ถ้าสีเป็นข้าวขาวก็นึ่งแบบเดียวกับข้าวเหนียวทั่วไป (ข้าวหอมดอกฮัง จ.สกลนคร โทร. 063-636-2797)

🍚 ข้าวเหนียวสันป่าตอง ข้าวที่กลายพันธุ์มาจากข้าวเหลืองใหญ่ ข้าวเจ้าพื้นถิ่นที่ชาวนากินกันมาหลายร้อยปี มีความนุ่ม หอม ให้ผลผลิตมาก นิยมใช้ทำข้าวต้มมัด และหุงกินกับอาหารเหนือและอีสาน (กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง จ.ลำพูน โทร. 080-672-1972)

🍚 ข้าวหอมปทุมเทพ พัฒนาสายพันธุ์มาจากข้าวหอมปทุมธานี ปลูกมากในที่ลุ่มภาคกลาง นุ่มหอมคล้ายข้าวหอมมะลิ แต่ให้ผลผลิตมากกว่า และต้านทานโรคในนาข้าวได้ดีกว่า จึงเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะในการส่งเสริมการปลูกแบบอินทรีย์ (กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โทร. 086-010-7212)

#สิงหาคม

🍚 ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขวัญใจคนรักสุขภาพที่พัฒนาสายพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยการผสมข้าวหอมนิลและข้าวขาวดอกมะลิ 105 เข้าด้วยกัน จนได้ข้าวเมล็ดสีม่วงเข้ม กลิ่นหอมมัน ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยบำรุงประสาท และลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง (วิสาหกิจชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจพอเพียงบ้านจานใต้ จ.ร้อยเอ็ด โทร. 092-759-7104, กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โทร. 086-010-7212)

🍚 ข้าวหอมนิล ข้าวสายพันธุ์พื้นบ้านที่ได้รับการพัฒนาให้นุ่มและหอม และเป็นต้นทางของข้าวไรซ์เบอร์รี่ จึงให้โภชนาการสูงไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะวิตามินบีและธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงประสาท และลดความเสี่ยงของมะเร็ง (วิสาหกิจชุมชนตลาดสีเขียวคนทาม จ.ศรีสะเกษ โทร. 093-340-3570, กลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โทร. 086-010-7212)

🍚 ข้าวมะลิดั้งเดิม เป็นข้าวเหนียวสายพันธุ์ท้องถิ่นของอีสาน มีความนุ่มหนึบ และหอมคล้ายกลิ่นดอกมะลิอ่อนๆ ใกล้เคียงกับข้าวเจ้าหอมมะลิ เป็นข้าวเหนียวในดวงใจของคนชอบกินข้าวหอมมะลิ และเหมาะจะเป็นข้าวที่กินต้อนรับเทศกาลวันแม่ (ข้าวหอมดอกฮัง จ.สกลนคร โทร. 063-636-2797)

#กันยายน 

🍚 ข้าวดอกขาม ข้าวสายพันธุ์พื้นบ้านจังหวัดชุมพร มีเมล็ดสีแดงสวย วิตามินบีและอีสูง ช่วยป้องกันและลดอาการจากโรคเหน็บชา (วิสาหกิจชุมชนข้าวไร่ชุมโค จ.ชุมพร โทร. 063-615-3464)

🍚 ข้าวเหนียวกะทิ ข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นอีสาน โดยเฉพาะแถบศรีสะเกษและร้อยเอ็ด มีความหอม นุ่ม มัน เป็นเอกลักษณ์ เหมาะกับการทำขนม (วิสาหกิจชุมชนตลาดสีเขียวคนทาม จ.ศรีสะเกษ โทร. 093-340-3570)

🍚 ข้าวบือเนอมู ข้าวดอยจากชุมชนปกาเกอะญอ เชียงใหม่ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ คล้ายข้าวโพดต้ม ถ้ากินในระยะข้าวใหม่จะมียางมาก เอาไปปรุงเป็นข้าวปั้นหรือข้าวตุ๋นจะยิ่งอร่อย (เครือข่ายลุ่มน้ำวาง จ.เชียงใหม่ โทร. 096-416-9661)

#ตุลาคม

🍚 ข้าวนางครวญ ข้าวสายพันธุ์พื้นบ้านชุมพร มีความนุ่ม หอม มียางเยอะ จึงมีเนื้อหนึบเป็นพิเศษ (วิสาหกิจชุมชนข้าวไร่ชุมโค จ.ชุมพร โทร. 063-615-3464)

🍚 ข้าวนางดำ ข้าวสายพันธุ์พื้นบ้านจากชุมพรเช่นกัน มีลักษณะคล้ายข้าวนางครวญ นุ่ม หอม แต่มีความมันมากกว่า นิยมกินกับของทอดหรือเมนูแห้งๆ (วิสาหกิจชุมชนข้าวไร่ชุมโค จ.ชุมพร โทร. 063-615-3464)

🍚 ข้าวชิล ข้าวเหนียวดอยเมล็ดสั้นกลม ปลูกมากในชุมชนปกาเกอะญอ มีเมล็ดสีแดงคละดำมันปลาบ หอมอร่อย ให้โภชนาการสูง นิยมใช้ทำขนมและหุงผสมกับข้าวดอยสีขาว เพื่อเติมสีสันให้ข้าวน่ากินยิ่งขึ้น (กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง จ.ลำพูน โทร. 080-672-1972)

🍚 ข้าวแผ ข้าวเหนียวดอยเมล็ดสั้นกลม นิยมปลูกในชุมชนปกาเกอะญอ มีเมล็ดสีแดงเข้ม นิยมหุงกับข้าวดอยสีขาวเช่นกัน ที่สำคัญคือมีโภชนาการสูง และหอมอร่อย (กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง จ.ลำพูน โทร. 080-672-1972)

#พฤศจิกายน

🍚 ข้าวปะกาอำปึล ข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นอีสานใต้ มีต้นกำเนิดในกัมพูชา ปะกาอำปึล เป็นภาษาเขมร หมายถึง ดอกมะขาม เพราะเมื่อแก่จัดเปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองสลับดำคล้ายดอกมะขาม หุงแล้วหอมนุ่มหนึบ ถ้าสีเป็นข้าวกล้องจะให้สัมผัสคล้ายข้าวโพดข้าวเหนียว มีน้ำตาลต่ำ เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน มีสารต้านมะเร็ง และช่วยบำรุงประสาท (กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีทมอ จ.สุรินทร์ โทร. 098-843-9693)

🍚 ข้าวหอมภูเขียว ข้าวเหนียวสายพันธุ์ท้องถิ่นอีสาน ที่พัฒนาสายพันธุ์ให้มีเมล็ดขาว หอมนุ่มหนึบ เยื่อหุ้มเมล็ดมีสีม่วงเข้ม หุงสุกจะมียางมากคล้ายข้าวรีซอตโตของอิตาลี หากสีเป็นข้าวกล้องเนื้อจะร่วน จึงควรหุงเหมือนข้าวเจ้า แต่ถ้าสีเป็นข้าวขาวก็นึ่งแบบเดียวกับข้าวเหนียวทั่วไป (ข้าวหอมดอกฮัง จ.สกลนคร โทร. 063-636-2797)

🍚 ข้าวโสมมาลี ข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นอีสาน พบมากในสกลนคร มีเมล็ดสั้นป้อม มียางมาก นุ่มหนึบคล้ายข้าวญี่ปุ่นหรือข้าวรีซอตโต จึงใช้ปรุงแทนกันได้ มีกลิ่นหอมละมุนคล้ายดอกไม้ (ข้าวหอมดอกฮัง จ.สกลนคร โทร. 063-636-2797)

🍚 ข้าวหอมภูพาน ข้าวเหนียวที่พัฒนามาจากสายพันธุ์ท้องถิ่นอีสาน ปลูกมากในสกลนคร เมื่อหุงแล้วข้าวจะออกสีน้ำตาลนุ่มหอม สามารถหุงได้เลยโดยไม่ต้องแช่ข้าวก่อน (ข้าวหอมดอกฮัง จ.สกลนคร โทร. 063-636-2797)

#ธันวาคม

🍚 ข้าวทับทิมชุมแพ พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นด้วยการผสมพันธุ์ข้าวสังข์หยดกับข้าวหอมมะลิ 105 จนได้ข้าวเจ้าสีแดงเข้มเนื้อนุ่มแบบข้าวหอมมะลิ น้ำตาลต่ำ เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ (อารยะฟาร์ม จ.ร้อยเอ็ด โทร. 097-328-2873) 

🍚 ข้าวก่ำกาดำ ข้าวเหนียวสายพันธุ์ท้องถิ่นมหาสารคาม ได้รับฉายาว่า ‘พญาข้าว’ เพราะมีสีดำทั้งลำต้นและเมล็ด เชื่อว่าเป็นข้าวมงคล ชาวนานิยมปลูกแซมในนาข้าวเพื่อเป็นสิริมงคลและสำหรับใช้ในพิธีกรรม (เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.มหาสารคาม โทร. 081-544-3259) 

🍚 ข้าวก่ำใบเขียว ข้าวเหนียวสายพันธุ์ท้องถิ่นมหาสารคามเช่นกัน ลักษณะคล้ายข้าวก่ำกาดำแต่นุ่มกว่า ลำต้นและใบมีสีเขียว เมล็ดมีสีดำ เป็นข้าวเหนียวดำที่นิยมนำไปทำขนม เช่น ข้าวเปียก ข้าวเหนียวสังขยา ต้อนรับเทศกาลปีใหม่ (เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.มหาสารคาม โทร. 081-544-3259) 

การกินข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ๆ จึงเป็นการกินที่เราจะได้สัมผัสรสชาติที่พิเศษ ด้วยเมล็ดข้าวยังมียางอยู่มาก ทั้งมีความหอมจากอโรม่าในเมล็ดข้าวที่เพิ่งละต้น และการได้กินข้าวแต่ละสายพันธุ์ตามฤดูการเก็บเกี่ยวที่แตกต่างกัน นอกจากจะให้เราได้สัมผัสความรุ่มรวยของรสชาติ จากความหลากหลายทางสายพันธุ์ของข้าวไทย การกินข้าวใหม่สายพันธุ์พื้นบ้าน ยังเป็นพลังใจที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของเกษตรกร ที่กำลังพลิกคืนความรุ่มรวยนั้นกลับสู่สำรับ และสร้างความยั่งยืนให้กับนิเวศของนาข้าวด้วยเช่นกัน

ข้อมูลจาก ‘ปฏิทินข้าวใหม่’ โดย สวนผักคนเมือง : ปลูกเมือง ปลูกชีวิต

tag:

ผู้เขียน

ด้วยการ ‘กิน’ เป็นพื้นฐานสำคัญของการมีสุขภาพดี ‘กินดี คลับ’ จึงเกิดขึ้นด้วยเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่นำไปสู่การกินอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทั้งตามหลักโภชนาการและความปลอดภัยของอาหาร ผ่านการสื่อสารซึ่งยืนอยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการที่เข้าใจง่าย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Subscribe

ติดตามข่าวสาร Gindee Club

About Gindee Club

Connect us

Copyright © 2023 Gindee Club. All right reserved.